TRSL thairoads thaihealth
ชื่อเรื่อง การประเมินการให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินร่วมสามกองทุน ภายใต้นโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน
บทคัดย่อ (ไทย) รายงานนี้ได้ค้นพบหลักฐานในเบื้องต้น โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1. เป้าประสงค์เชิงนโยบาย ประชาชนทุกสิทธิเข้าถึงบริการโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบเบิกจ่ายเดิมของ สามกองทุนประกันสุขภาพ เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 6 เดือนหลังการประกาศนโยบาย มีผู้ป่วยรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 7,805 ราย ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ภายใต้การดูแล ของกรมบัญชีกลาง ใช้บริการช่องทางนี้มากกว่าค่าเฉลี่ยของทุกสิทธิ์ 5 เท่า แนวโน้มการใช้บริการเพิ่มขึ้นนี้ สอดคล้องกับจำนวนการใช้บริการเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ไม่แยกโรงพยาบาลรัฐและเอกชน) ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2554 ตามสถิติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินในด้านหนึ่ง จึงอนุมานได้ว่า นโยบายนี้ประสบความสำเร็จในการขยายช่องทางการเข้าถึงบริการในภาวะฉุกเฉิน ของโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบการเบิกจ่ายเดิมชัดเจน อีกด้านหนึ่งนโยบายนี้เป็นก้าวแรกของการขยาย ความรับรู้เกี่ยวกับบริการของโรงพยาบาลเอกชนสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วประเทศ ถ้าระบบสารสนเทศ ครอบคลุมโรงพยาบาลทั้งหมดในภาครัฐและภาคเอกชนก็จะทำให้วิเคราะห์ได้ชัดเจนว่านโยบายนี้บรรลุถึง การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสามกองทุนฯ หรือไม่ เพียงใด 2. การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ 2.1 รายงานจำนวนผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนผู้ป่วยนอกลดลง ทั้งนี้จำนวนการใช้บริการฉุกเฉิน กรณีผู้ป่วยนอกที่ลดลงไม่น่าจะใช่อุบัติการณ์ลดลง แต่น่าจะเกิดจากอัตราชดเชยบริการผู้ป่วยนอก ที่ไม่จูงใจ โรงพยาบาลเอกชนจึงเลือกที่จะเรียกเก็บค่าบริการตรงจากผู้ป่วยนอก 2.2 หลักฐานจากการสุ่มสัมภาษณ์ผู้ป่วยฉุกเฉินที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนภายหลังจากจำหน่าย แล้วพบว่า สัดส่วนผู้ป่วยในทุกสิทธิ์ล้วนต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้าเกือบครึ่งหนึ่ง โดย กลุ่มสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มีสัดส่วนมากที่สุดคือร้อยละ 80 ทั้งนี้จำนวนเงินที่สำรองจ่าย สำหรับบริการผู้ป่วยใน อาจมากถึงครั้งละ 2 หมื่นบาท สาเหตุที่ผู้ป่วยต้องสำรองจ่าย น่าจะมีที่มา หลายประการ ได้แก่ 2.2.1 ผู้ป่วยไม่รับรู้สิทธิ์ ดังปรากฏหลักฐานสนับสนุนจากบันทึกการให้บริการ โทร 1330 แสดงว่า ผู้สอบถามจำนวนมากที่สุด (1,165 ครั้ง) ถามเรื่องสิทธิประโยชน์ว่าคุ้มครองอะไรบ้าง รองลงมาคือ ไม่ทราบว่าสามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลใดได้บ้าง (633 ครั้ง) และที่ไม่ ทราบว่าต้องสำรองจ่ายหรือไม่ มีจำนวน 409 ครั้ง 2.2.2 ผู้ป่วยไม่ทราบว่าจะร้องเรียนทางหมายเลขโทรศัพท์ใดเมื่อมีปัญหาการใช้สิทธิ์ จากการ สัมภาษณ์ผู้ป่วยทั้งสามกองทุนที่ใช้สิทธิ์ในโครงการดังกล่าว ร้อยละ 91-98 ไม่ทราบว่าจะ ร้องเรียนกับใคร 2.2.3 ค่าชดเชยบริการต่ำกว่าที่โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลการเบิกจ่าย EMCO พบว่าโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการได้รับค่าชดเชยเพียงประมาณร้อยละ 30-40 ของ ค่าบริการที่เรียกเก็บทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน อย่างไรก็ตาม ค่าบริการที่โรงพยาบาล เอกชนเรียกเก็บในระบบ EMCO ยังมากกว่าของโรงพยาบาลเอกชนในระบบปกติ (1.03-1.54 เท่า) และของโรงพยาบาลรัฐ (2-3 เท่า) 2.2.4 นิยามภาวะฉุกเฉินคลุมเครือ ในการจำแนกระดับความรุนแรงโดยเฉพาะสีเหลือง เปิดช่องให้ โรงพยาบาลเอกชนจัดกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองจริงเป็นสีเขียวจะได้เรียกเก็บค่าบริการได้ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนมาใช้ประโยชน์ โดยอาจไม่เป็นกรณีฉุกเฉินจริง โดยยินดีจ่ายเองหากเบิกไม่ได้หรือร่วมจ่ายในส่วนที่เบิกไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนการเบิกสิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงหลัง นอกจากนั้น นิยามของกรณีพ้นวิกฤตก็มิได้กำหนดให้ชัดเจน ปล่อยให้ทางโรงพยาบาลเอกชน เป็นผู้วินิจฉัย จึงอาจเป็นปัญหาเกี่ยวกับจังหวะการส่งตัวผู้ป่วยกลับไปรักษาต่อยังโรงพยาบาล ต้นสังกัดตามสิทธิ์ หรือถ้าสมัครใจนอนโรงพยาบาลเอกชนต่อไป ผู้ป่วยก็ต้องเข้าถูกเรียกเก็บ ค่าบริการตามปกติหลังจากโรงพยาบาลเอกชนระบุว่าพ้นช่วงวิกฤตแล้ว 2.3 สำหรับผู้ป่วยกลุ่มด้อยโอกาส ความกังวลต่อการถูกเรียกเก็บค่าบริการแม้ในภาวะฉุกเฉินนับเป็น อุปสรรคต่อการตัดสินใจเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้จุดเกิดเหตุ ดังปรากฏผลการ สัมภาษณ์ผู้นำกลุ่มด้อยโอกาส (ชุมชนแออัด ผู้พิการ ผู้สูงอายุ) ซึ่งพบว่าเพียงครึ่งเดียวเลือกที่จะไป โรงพยาบาลเอกชนถ้าตนเองตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน แม้รับรู้ว่ารัฐบาลมีนโยบายนี้ หลักฐานนี้บ่งชี้ว่าการ ประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึงและยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่กลุ่มด้อยโอกาสในเรื่องนี้ได้ 3. ประเด็นเชิงระบบ 3.1 ในด้านการตรวจสอบคุณภาพบริการ การวิเคราะห์เวชระเบียนเท่าที่สืบค้นได้ สำหรับสองกลุ่มโรค ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน และภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน พบว่า ข้อมูล มีรายละเอียดเพียงพอให้วิเคราะห์เพียงร้อยละ 10 ของจำนวนเวชระเบียนทั้งหมด บ่งชี้ว่า ระบบ สารสนเทศในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะรองรับการประเมินคุณภาพบริการ หลักฐานนี้สอดคล้องกับข้อ ค้นพบจากการสัมภาษณ์เจาะลึกผู้บริหารและทีมงานห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลเอกชนว่า ตราบจน ปัจจุบันยังไม่มีกระบวนการประเมินคุณภาพบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยหน่วยงานภายนอกด้วยการ วิเคราะห์เวชระเบียนเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ เช่นเดียวกัน แพทย์โรงพยาบาลรัฐบางแห่ง ในส่วนภูมิภาคกังวลว่า คุณภาพบริการโรงพยาบาลเอกชนอาจเป็นปัญหา โดยเฉพาะโรงพยาบาล ที่ปริมาณการให้บริการไม่เพียงพอที่จะธำรงรักษาความรู้และทักษะการให้บริการเฉพาะทาง และ ไม่น่าประหลาดใจเมื่อปรากฏข้อค้นพบว่า ความไม่มั่นใจคุณภาพบริการเป็นเหตุผลที่พบบ่อยที่สุดในการไม่เข้ารับบริการฉุกเฉินในโรงพยาบาลที่ใกล้จุดเกิดเหตุ (ร้อยละ 23 ในกลุ่มสวัสดิการรักษา พยาบาลข้าราชการ ร้อยละ 11 ในกลุ่มประกันสังคม และร้อยละ 7 ในกลุ่มหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ) 3.2 เกี่ยวกับการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ ปัจจุบันไม่มีระบบสารสนเทศรองรับการแกะรอยผู้ป่วยตั้งแต่ จุดเกิดเหตุไปจนสิ้นสุดการรักษา จึงยังไม่รู้แน่ชัดว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมเพียงใด เมื่อคำนึงถึงความซับซ้อนเร่งด่วนของภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยประสบและขีดความสามารถที่แตกต่างกัน ระหว่างโรงพยาบาล การสัมภาษณ์เจาะลึกผู้บริหารและทีมงานห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลเอกชน พบว่า เมื่อพ้นวิกฤตและต้องส่งต่อ โรงพยาบาลเอกชนประสบปัญหาการหาเตียงให้ผู้ป่วยกลุ่มสวัสดิการ รักษาพยาบาลข้าราชการมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีโรงพยาบาลต้นสังกัด ปัญหานี้รุนแรงมาก ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเชียงใหม่ แม้ว่า clearing house และกระทรวงสาธารณสุข ตระหนักดีและพยายามวางระบบรองรับแล้วก็ตาม
บทคัดย่อ (อังกฤษ)
ผู้แต่ง ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล
สัมฤทธิ์
ศรีธำรงสวัสดิ์
ยาใจ
อภิบุญโยภาส
สิรินาฏ
นิภาพร
อรวรรณ
ประสิทธิ์ศิริผล
วรรณภา
บำรุงเขต
สุธีรดา
ฉิมน้อย
หน่วยงาน มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้สนับสนุน สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย
ผู้จัดพิมพ์ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย
ปีที่เผยแพร่ (ค.ศ.) 2012
ปีที่เผยแพร่ (พ.ศ.) 2555
จำนวนหน้า -
ประเภทเอกสาร หนังสือ
คำสำคัญ การพยาบาลฉุกเฉิน; การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน; บริการฉุกเฉิน
หมวดหมู่ การให้บริการหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน
ภาษา ภาษาไทย
ลิงค์แหล่งที่มา
ไฟล์ดาวน์โหลด
อัพเดทล่าสุด Monday, December 9, 2013