ชื่อเรื่อง (TH):
คู่มือการเสนอแนวทางการจัดการด้านใบขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุในกลุ่มเยาวชน
บทคัดย่อ (TH):
จากข้อมูลสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติรถจักรยานยนต์ยังคงเป็นพาหนะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงที่สุดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จากข้อมูลของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นของอุบัติเหตุในกลุ่มช่วงอายุ 15-24 ปี มีสูงถึงร้อยละ 20
จากการทบทวนการวิจัยในต่างประเทศชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่สำคัญของการเกิดอุบัติเหตุของผู้ขับขี่ที่ยังขาดประสบการณ์หรือผู้ขับขี่มือใหม่ (Novice Driver) ว่ามีสาเหตุมาจากการขาดประสบการณ์ (Inexperience) และการขาดวุฒิภาวะ (Immaturity) ซึ่งจำเป็นจะต้องมีกลไกในการจัดการด้านการเรียนรู้ที่เหมาะสมทั้งในด้านของการเพิ่มพูนประสบการณ์และการเพิ่มพูนวุฒิภาวะ
สำหรับกลไกในการจัดการด้านการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์นั้นพบว่ากลไกสำคัญและถูกนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือกลไกในการจัดการด้านการออกใบอนุญาตขับขี่หรือที่นิยมเรียกกันว่าใบขับขี่ทั้งระบบ สำหรับระบบใบขับขี่จะประกอบด้วยส่วนของการจัดการก่อนการมีใบขับขี่ (Pre-licensing) ขณะมีใบขับขี่ (Licensing) และการกำกับดูแลหลังจากมีใบขับขี่ (Post-licensing) ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการเสริมในด้านของทักษะการเรียนรู้ด้านการขับขี่ที่ถูกต้องผ่านกระบวนการอบรม ตลอดจนการกำกับดูแลในขณะที่ยังขาดความพร้อมในการขับขี่ที่ปลอดภัยด้วยการออกใบอนุญาตขับขี่อย่างเป็นลำดับขั้น (Graduated Licensing) รวมไปถึงการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่และผู้โดยสารอย่างเช่นการห้ามมีผู้โดยสารซ้อนท้ายในขณะที่ผู้ขับขี่ยังคงขาดประสบการณ์ (Pillion-passenger Restriction) หรือการห้ามการขับขี่ในเวลากลางคืน (Night-time Curfew) รวมไปถึงรูปแบบการจัดการเพื่อพัฒนาทักษะด้านการสังเกตสถานการณ์อันตราย (Hazard Perception)
การพัฒนาคู่มือฉบับนี้ก็เพื่อทำการศึกษารูปแบบของระบบใบขับขี่ของประเทศไทยในปัจจุบันเพื่อเปรียบเทียบกับแนวทางที่ได้มีการดำเนินการในต่างประเทศเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางในการกำหนดรูปแบบของระบบใบขับขี่ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยและมีส่วนช่วยในการลดการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มือใหม่ซึ่งยังเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
[+][-]