ชื่อเรื่อง |
โครงการศึกษาผลของกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติในการควบคุมความเร็วในการขับขี่บนทางเขา: กรณีศึกษาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 ดอยนางแก้ว–ดอยสะเก็ด Study on the Effects of Automatic Speed Enforcement System on Speed Control on Mountainous Road A Case Study of Highway No.118 Doi Nang kaew - Doi Saket |
บทคัดย่อ (ไทย) |
โครงการศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลการนำมาตรการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วแบบ อัตโนมัติมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมความเร็วและลดอุบัติเหตุบนถนนทางเขาทางหลวง หมายเลข 118 ดอยนางแก้ว – ดอยสะเก็ด (เชียงราย – เชียงใหม่) โดยการวิเคราะห์จากข้อมูลพฤติกรรมการใช้ความเร็วพฤติกรรมการขับขี่ด้านจิตวิทยาและทัศนคติของผู้ใช้รถใช้ถนนบนเขตทางเขาและข้อมูลจำนวน การเกิดอุบัติเหตุก่อน-หลังการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติ ซึ่งทางหลวง 118 ดอยนางแก้ว – ดอยสะเก็ด (เชียงราย – เชียงใหม่) เป็นถนนที่ไม่มีเกาะกลางถนนแบ่งทิศทางจราจร ประกอบด้วยทางราบ สลับกับทางเขา และทางโค้งจำนวนมาก ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วสูงอยู่เป็นประจำ จังหวัด เชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยทางถนน ได้มีความร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อถนนที่ปลอดภัยกว่า (Safer Roads Foundation, SRF) ติดตั้งระบบกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติในตำแหน่งที่มีการ เกิดอุบัติเหตุบ่อยจำนวน 5 ตำแหน่ง ระยะทาง 36 กิโลเมตร เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน งานวิจัยนี้ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ข้อมูลพฤติกรรมการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ทั้งก่อนและหลังติดตั้งกล้องฯ ซึ่งอาศัยการสำรวจข้อมูลความเร็วด้วยปืนวัดความเร็วและจากระบบกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติ ข้อมูลปัจจัยทัศนคติด้านจิตวิทยาของผู้ขับขี่ที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้ความเร็วจากการเก็บแบบสอบถามสัมภาษณ์ผู้ขับขี่ถนนสายนี้ทั้งก่อนและหลังติดตั้งกล้องฯ และข้อมูลจำนวนอุบัติเหตุก่อน-หลังมีมาตรการการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติที่ได้รับความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลดอยสะเก็ดและและศูนย์กู้ชีพอินทรา ป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด
ดังนั้นผลการวิเคราะห์จึงสามารถสรุปแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน โดยมีรายละเอียดดังนี้ส่วนที่หนึ่ง ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ความเร็วก่อนและหลังการใช้มาตรการการควบคุมความเร็วด้วยกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติ พบว่ามาตรการการควบคุมความเร็วด้วยกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติทำให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วในการขับขี่ที่ลดลงก่อนมีมาตรการฯ โดยภายหลังมีมาตรการฯ การใช้ความเร็วของรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกลดลงร้อยละ 7.7 และการใช้ความเร็วของรถโดยสารลดลงร้อยละ 8.8
ส่วนที่สอง ผลการวิเคราะห์ปัจจัยทัศนคติด้านจิตวิทยาของผู้ขับขี่ที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้ความเร็ว โดยอาศัยการสร้างแบบจำลองสมการเชิงโครงสร้าง (Structural Equation Model) ในการวิเคราะห์ เพื่อหาปัจจัยด้านจิตวิทยาตามหลักทฤษฎีพฤติกรรมตามแผนที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจในการแสดงพฤติกรรมการใช้ความเร็วในการขับขี่บนทางเขา พบว่าปัจจัยการรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม (Perceived Behavioral Control, PBC) มีผลมากที่สุดต่อการใช้ความเร็วบนทางเขา ดังนั้นมาตรการการบังคับใช้กฎหมาย โดยอาศัยการควบคุมความเร็วด้วยกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติ นับเป็นการปิดโอกาสไม่ให้ผู้ขับขี่ สามารถแสดงพฤติกรรมการใช้ความเร็วในการขับขี่ในเขตทางเขา ส่งผลให้ผู้ขับขี่มีความตั้งใจลดความเร็วในการขับขี่ลง
และส่วนสุดท้ายผลการวิเคราะห์จำนวนอุบัติเหตุบนทางทล.118 ก่อน-หลังมีมาตรการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วฯ พบว่าในช่วงที่เริ่มดำเนินการมาตรการฯ (เดือนธันวาคมและมกราคม) อัตราการเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ยรายเดือนลดลงร้อยละ 5.9 จากปีที่ผ่านมา และในช่วงภายหลังมีมาตรการฯ อัตราการเกิดอุบัติเหตุเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม ลดลงคิดเป็นร้อยละ 33.3 และร้อยละ 58.3 ตามลำดับและมีแนวโน้มที่จะลดลงมากขึ้นภายหลังมีการใช้มาตรการฯอย่างต่อเนื่อง
โครงการศึกษานี้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ การเพิ่มความเข้มงวดในการลงโทษด้านการทำผิด กฎหมายในการใช้ความเร็วเกินอัตราที่กำหนด การเพิ่มวิธีการชำระค่าปรับใช้หลากหลายขึ้นการปรับเปลี่ยนตำแหน่งติดตั้งกล้องฯ และการเก็บค่าปรับแบบขั้นบันได เป็นต้น เพื่อให้มาตรการควบคุมจำกัดความเร็วด้วยกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมงบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 ดอยนางแก้ว-ดอย สะเก็ด มีประสิทธิภาพสูงสุดในการนำไปปฏิบัติลดความสูญเสียอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนนและสามารถเป็นโครงการนำร่องที่สามารถนำไปใช้เพื่อความปลอดภัยทางถนนในอนาคต
[+][-]
|
ผู้แต่ง |
นพดล กรประเสริฐ
ธเนศ เสถียรนาม
ปรีดา พิชยาพันธ์
ชนิดา ใสสุขสอาด
ชมพูนุท สุธีรากุล
พงษ์พันธ์ แทนเกษม
|
ผู้สนับสนุน |
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) |
คำสำคัญ |
พฤติกรรมการใช้ความเร็ว; มาตรการกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติ; อุบัติเหตุบนทางเขา; ทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน; ความปลอดภัยทางถนน |
หมวดหมู่ |
การใช้ความเร็ว; ประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย; เทคโนโลยีของการบังคับใช้กฎหมาย |